แนวคิด OKRs Objectives & Key Results

KPIs  หรือ Key  Performance Indicators ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดผลงานว่าผลการปฏิบัติงานตรงตามเป้าหมายหรือไม่ แต่ปัจจุบันได้เริ่มนำแนวคิด OKRs หรือ Objectives & Key Results วิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จมาใช้ โดยสิ่งที่ OKRs แตกต่างจาก KPIs คือ

  1. รูปแบบการทำงาน โดย KPI จะบริหารงานแบบบนสู่ล่าง (Top-down management) ผู้บริหารคิดอย่างไร วางตัวชี้วัดอย่างไร จะถ่ายทอดลงสู่ผู้ปฏิบัติ ในขณะที่ OKRs จะเน้นรูปแบบการทำงานเป็นทีม ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยผู้บริหารจะเป็นผู้กำหนด  Objectives (วัตถุประสงค์) แต่การจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างไร จะดำเนินการอย่างไรนั้น ผู้ที่จะรับตัวชี้วัดนั้นไปจะเป็นผู้กำหนด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการผสม 2 ส่วน  ระหว่าง Objectives จากผู้บริหาร  และ Key Results หรือผลลัพธ์หลักที่ถูกกำหนดโดยผู้ปฏิบัติ หรือ ผู้รับตัวชี้วัดนั้น นอกจากนี้การทำงานจะส่งเสริมระบบ coaching หรือ การสอนงาน เป็นกระบวนการในการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา พัฒนา และค้นหาศักยภาพร่วมกัน ฉะนั้น  การนำ OKRs เข้ามาใช้จะช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ในการทำงานเป็นทีม การมอบหมายให้ใครทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะไม่ใช่รูปแบบการสั่งงาน แต่จะเป็นการพูดคุย และทำงานไปด้วยกัน
  2. การกำหนดตัวชี้วัด KPIs จะกำหนดตัวชี้วัดหลายตัว แต่ OKRs จะกำหนดในปริมาณน้อยเฉพาะเรื่องสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และสิ่งที่จะต้องดำเนินการในปีนั้นๆ มีรอบของการติดตามเป็นช่วงๆ เช่น การกำหนดเป็นรายปี รายเดือน ไตรมาสเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมุ่งเป้า ดังนั้นผู้ปฏิบัติของแต่ละกอง แต่ละฝ่ายควรจะมี OKRs ไม่เกิน 5 ตัว เพื่อที่ผู้ปฏิบัติงานจะจำได้ และทำงานอย่างมุ่งเป้า  ส่วนอื่นๆจะเป็นงานประจำที่ทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปมุ่งเน้น
  3. การเห็นความเชื่อมโยงการทำงานไปสู่เป้าหมายหลัก กรอบแนวคิดการปฏิบัติงาน แบบ KPI ผู้ปฏิบัติงานจะไม่เห็นความเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายหลัก แต่ OKRs เมื่อตั้งออกมาแล้วผู้ปฏิบัติงานจะเห็นภาพรวมของสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังวัตถุประสงค์หลักหรือเป้าหมายองค์กรว่าผู้บริหารต้องการอะไร ผู้ปฏิบัติกำลังทำอะไร เป้าหมายคืออะไร  นอกจากนี้คำว่า  KR หรือ Key Results ยังเป็น Subset หนึ่งของ KPIs  เพราะ KPIs มี หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น  Input KPI (ตัวชี้วัดนำเข้า)  process KPI (ตัวชี้วัดกระบวนการ)  output KPI (ตัวชี้วัดผลผลิตหรือผลดำเนินงาน) โดย Key Results คือ outcome KPI (ตัวชี้วัดผลลัพธ์) ซึ่งจะวัดผลลัพธ์สุดท้าย ร่วมกับการตั้งค่าเป้าหมายนั่นเอง  เช่น ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมีประเด็นด้าน education disruption  ทีมบริหารได้ตั้งกลยุทธ์ การปรับรูปแบบของการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยให้เป็น learning paradigm  ซึ่ง Objectives ที่ผู้บริหารตั้งไว้ คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา  การดำเนินการในกรณีนี้ จะเริ่มจากโจทย์ว่า การปรับเปลี่ยนด้านการจัดการศึกษาจะทำอย่างไร ?  หลังจากนั้น คณบดีคณะต่างๆ ในฐานะผู้ได้รับพันธกิจด้านการศึกษา  จะนำเสนอว่า การปรับเปลี่ยนจะต้องทำ อะไรบ้าง เป็นรูปแบบของโครงการกิจกรรม  สิ่งที่ดำเนินการนั้นจะวัดผลอย่างไร  ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะเป็น Key Results  จากตัวอย่าง เห็นได้ว่า การดำเนินงานไม่ได้กำหนดโดยผู้บริหารว่า education transformation จะต้องมีตัวชี้วัดอะไรที่เหมาะสม แต่การทำแบบ OKRs คือการกำหนดว่า วัตถุประสงค์หลักต้องการอะไร  และให้ทางคณะ/ส่วนงานคิด  เพื่อกำหนดเป็น Key Results

ที่มา: https://th.kku.ac.th/11824/, มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2563

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *