การดำเนินงาน

          กองบริหารยุทธศาสตร์ ได้จัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน ทำให้ได้รับข้อมูลทางการเงินและการจัดการที่บ่งบอกถึงผลผลิต (Outputs – สิ่งของและบริการ) ที่จัดทำโดยส่วนงานนั้นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งผลผลิตนั้น และความเชื่อมโยงของผลผลิตและผลลัพธ์ (Outcomes – ผลที่ตามมา ผลกระทบและผลสำเร็จ) การตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรจึงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลด้านผลผลิต
และผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันกับวัตถุประสงค์ของนโยบาย

          เพื่อให้การดำเนินงานของกองบริหารยุทธศาสตร์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลภายใต้งบประมาณที่จำกัด จำเป็นต้องดำเนินการเงื่อนไขการจัดการทางการเงินซึ่งเรียกว่ามาตรฐาน
การจัดการทางการเงิน งบประมาณและทรัพย์สิน 7 ด้าน (Hurdles) ดังนี้

การวางแผนงบประมาณ (Budget Planning)

    การจัดงบประมาณของกองบริหารยุทธศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดจำเป็นต้องดำเนินการในสิ่งที่เป็นพันธกิจหลักของกอง เพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการเป็นสิ่งแรกก็คือ การจัดทำแผนกลยุทธ์ เพื่อนำกลยุทธ์ที่ได้ไปใช้ในการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และจะต้องได้ผลผลิต
และผลลัพธ์จากการดำเนินงาน โดยจะใช้ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องเป็นตัววัดผลการดำเนินงาน กลยุทธ์ที่ได้จาก
การดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์ดังกล่าว จะต้องนำมาแปลงสู่แผนการดำเนินงานหรือกลยุทธ์
ในการปฏิบัติงาน พร้อมจัดทำแผนงาน งาน/โครงการ ตามประเภทค่าใช้จ่ายที่กำหนด และครอบคลุม
แหล่งเงินงบประมาณ เพื่อเป็นการประกันได้ว่าหากสถานการณ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กองบริหารยุทธศาสตร์จะสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้

การคำนวณต้นทุนผลผลิต (Output Costing)

    ต้นทุนการผลิต เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับการจัดทำ และบริหารงบประมาณ
เพราะต้นทุนผลผลิต รวมถึงประโยชน์ในการพิจารณาทบทวนการดำเนินงานของหน่วยงานว่า
งาน/โครงการดังกล่าวจะดำเนินการต่อไป หรือหยุดการดำเนินการหากดำเนินงานไม่มีประสิทธิผล ดังนั้น จำเป็นต้องจัดวางระบบในการคิดต้นทุนผลผลิตที่เหมาะสม และสามารถแสดงผลได้รวดเร็ว เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการดำเนินงาน และการติดตามตรวจสอบ นอกจากนั้น จะต้องมีระบบการบริหารต้นทุน
ที่จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลในการดำเนินงาน

การจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้าง  (Procurement Management)

                   กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการประหยัดในการใช้จ่ายงบประมาณ และมีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของการผลิต กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ดี โปร่งใสยุติธรรม และตรวจสอบได้ จะช่วยลดการสูญเสียงบประมาณ ดังนั้น กองบริหารยุทธศาสตร์จึงจัดให้มีระบบ
การจัดซื้อจัดจ้างที่ดี มีแผนในการจัดซื้อจัดจ้างที่จะบ่งบอกว่าจะจัดซื้อจัดจ้างพัสดุชนิดไหน จำนวนเท่าไรในเวลาใด และจะจัดอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงานได้ทันเวลา มีปริมาณ คุณภาพมีราคาที่เหมาะสมและสมประโยชน์ในการใช้งาน

    การบริหารทางการเงินและควบคุมงบประมาณ (Financial Management and Budget Control)

    การควบคุมงบประมาณเป็นกลไกที่จำเป็นสำหรับการประกันว่า ความคล่องตัวทางการงบประมาณที่ได้รับจากส่วนกลางนั้น จะไม่นำไปสู่การกระจายงบประมาณที่ไม่เกิดประสิทธิผล
ซึ่งรายการทางบัญชีจะต้องแสดงถึงรายการที่จำเป็นเหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการควบคุมงบประมาณ และคำนวณต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) สำหรับการรายงานผลการดำเนินงาน รวมถึงมีระบบการอนุมัติ ตรวจสอบ เช็คกระทบยอด และการบันทึกเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณ

       การรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน (Financial and Performance Reporting)

    การรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน และส่วนหนึ่งของกระบวนการติดตาม
และประเมินผล เป็นการแสดงความโปร่งใสของการใช้จ่ายเงิน ประสิทธิผลในการปฏิบัติ เป็นเครื่องมือ
ที่ใช้กำกับการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ เพื่อจะบ่งชี้ถึงผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงเป็นข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ในการตัดสินใจของกองบริหารยุทธศาสตร์ว่าควรจะดำเนินกิจกรรม
หรือมีหน่วยงานนั้นต่อไปหรือไม่อย่างไร

    การบริหารสินทรัพย์ (Asset Management)

    สินทรัพย์ นับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการดำเนินงานของทุกองค์กร หากองค์กรมีการใช้สินทรัพย์ที่ไม่คุ้มค่าหรือไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นผลให้มีต้นทุนในการดำเนินการสูงกว่าที่ควรจะเป็นสาเหตุทั่วไปของการสิ้นเปลืองงบประมาณอันเนื่องมาจากการใช้สินทรัพย์ ได้แก่ ไม่มีการบำรุงรักษาสินทรัพย์ ความสูญหาย การจัดซื้อสินทรัพย์ใหม่ในขณะที่สินทรัพย์เดิมยังสามารถใช้งานได้ การขาดความชัดเจนของกฎระเบียบในการขายสินทรัพย์เดิมไม่ก่อให้เกิดผลผลิต รวมถึงการขาดการบริหารสินทรัพย์
ที่มีอยู่ให้บังเกิดผลประโยชน์สูงสุด ดังนั้น กองบริหารยุทธศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีการบริหารสินทรัพย์ที่มี
อยู่ให้เกิดสัมฤทธิผล และมีการจัดซื้อสินทรัพย์ใหม่เท่าที่จำเป็นอย่างแท้จริง

การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี

    เพื่อให้แผนปฏิบัติราชการประจำปี และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี
เป็นเครื่องมือ และกลไกขับเคลื่อนการบริหารงบประมาณที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลสำเร็จตามกรอบเป้าหมายนโยบายพันธกิจ ทิศทางการพัฒนา และตัวชี้วัดที่สำคัญ กองบริหารยุทธศาสตร์ จึงได้จัดให้ระบบ
การบริหารและเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยึดหลักการบริหารงบประมาณ ตามวัตถุประสงค์
ของงบประมาณปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย แบบแผนทางราชการที่กำหนด และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาและปฏิทินการปฏิบัติงาน รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดประหยัด คุ้มค่า การมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เบิกจ่ายตามแผนปฏิบัติการประจำปี และแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ โดยเคร่งครัดและคำนึงถึงประสิทธิผลเป็นสำคัญ ให้มีการกำกับ ติดตามการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ รายงานผลการเบิกจ่าย ตามกำหนดเวลารายไตรมาส ภายใต้มาตรการควบคุมประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณของ
สำนักงบประมาณ

การกำกับตรวจสอบ

กองบริหารยุทธศาสตร์ มีการกำกับตรวจสอบตามรายละเอียดดังนี้

      การตรวจสอบภายใน (Internal Audit)

                   การปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณ จากงบประมาณแบบแผนงานไปสู่ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน ทำให้กองบริหารยุทธศาสตร์มีความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณมากขึ้น และอาจส่งผลให้มีการใช้งบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นการตรวจสอบภายในจึงถือเป็นกลไกที่สำคัญในการควบคุมการใช้งบประมาณให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องและมีสัมฤทธิ์ผล เป็นการให้บริการข้อมูลแก่ฝ่ายบริหาร และเป็นหลักประกันขององค์กรในด้านการประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม ทั้งในด้านการเงินและการบริหารงาน เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร โดยการเสนอรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าขององค์กรรวมทั้งการเป็นผู้ให้คำปรึกษากับฝ่ายบริหาร ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลและดูแลให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า ซึ่งการตรวจสอบภายในมีส่วนผลักดันความสำเร็จขององค์กรด้วย

การควบคุมภายใน (Internal Control)

ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายในพ.ศ. 2544 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 15 (3) (ก) (ค) ตามระเบียบฯ ข้อ 5 กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ
(ผู้รับตรวจ) นำมาตรฐานการควบคุมภายในที่ออกตามระเบียบนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดวางระบบการควบคุมภายในให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ระเบียบฯ นี้ มีผลใช้บังคับและรายงานความคืบหน้า
ทุกหกสิบวันต่อผู้กำกับดูแล และคณะกรรมการตรวจสอบ พร้อมส่งสำเนาให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ดังนั้น กองบริหารยุทธศาสตร์จึงได้จัดให้มีระบบการควบคุมภายในตามแนวทางของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน การจัดให้มีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิผลและสอดคล้องกับมาตรฐานการควบคุมภายใน
ที่กำหนดโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะเกี่ยวข้องกับการประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกขององค์กร

       การตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit)

การตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) เป็นการตรวจสอบที่เน้นผลของ
การดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างดำเนินการและหรือที่แล้วเสร็จ ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงบประมาณ ผลผลิต โครงการ กิจกรร หรือไม่ มีประสิทธิภาพและสมประโยชน์เพียงใด โดยให้ความสำคัญกับผลงานที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และการใช้ทรัพยากร ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

                   การบริหารความเสี่ยง เป็นกลวิธีที่เป็นเหตุเป็นผลที่นำมาใช้ในการบ่งชี้ วิเคราะห์ ประเมินจัดการ ติดตาม และสื่อสารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหน่วยงาน/ฝ่ายงาน หรือกระบวนการดำเนินงานขององค์กร เพื่อช่วยลดความสูญเสียในการไม่บรรลุเป้าหมายให้เหลือน้อยที่สุดและเพิ่มโอกาสแก่องค์กรมากที่สุด การนำกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาใช้ภายในกองบริหารยุทธศาสตร์ จะเป็นงานส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงเป็น
การคาดการณ์เหตุการณ์อนาคตอย่างมีเหตุผล มีหลักการ พร้อมทั้งหาทางลดระดับความเสี่ยงหรือป้องกันความเสียหายในการทำงานแต่ละขั้นตอนไว้ หรือในกรณีที่พบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่มีผลทำให้คณะเกิดความเสียหาย หากมีการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงไว้โอกาสที่จะประสบกับปัญหาก็จะลดระดับ
ความรุนแรงของปัญหาได้ หรือหากเกิดความเสียหายขึ้น ก็จะเป็นความเสียหายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ
การไม่มีการนำกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาใช้ และเพื่อให้การดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยง ของกองบริหารยุทธศาสตร์ประสบผลสำเร็จได้

แผนการดำเนินงาน

          มีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (4ปี) พ.ศ. 2562-2565 ด้วยยุทธศาสตร์บันได 4 ขั้นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

          ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปฏิรูปเพื่อการพัฒนาองค์กร (Reform & Re-positioning) มีเป้าหมาย
เพื่อมหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการภายในองค์กรมีประสิทธิภาพ การสร้างหลักสูตรที่ตอบสนอง
ความต้องการของท้องถิ่น พัฒนากระบวนการผลิตบัณฑิตและพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้เป็นผู้ประกอบการ
รุ่นใหม่ และสถาบันสังคมดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          ยุทธศาสตร์ที่ 2  สร้างความร่วมมือมุ่งเป้า (Cooperation Focus) มีเป้าหมายมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตบัณฑิต และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับท้องถิ่นเพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่ชุมชน

          ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างชื่อเสียง สร้างศรัทธา สร้างรายได้ (Celebrated & Revenue Development) มีเป้าหมายเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างอัตลักษณ์บัณฑิตด้านดิจิทัลและการนำความรู้ไปประยุกต์ในการแก้ปัญหาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และมีรายได้เพิ่ม มั่นคง และพัฒนามหาวิทยาลัยได้อย่างยั่งยืน

          ยุทธศาสตร์ที่ 4 ครอบครัวราชภัฏชัยภูมิเปี่ยมสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (Quality of Life & Sustainability) มีเป้าหมายให้บุคลากรและนักศึกษา มีความรัก ความสามัคคี รวมใจเป็นหนึ่งเดียว                    ส่งเสริมค่านิยม “ราชภัฏชัยภูมิ รวมใจเป็นหนึ่งเดียว” (CPRU Mind is One) ส่งเสริมให้บุคลากร
ใช้ความสามารถได้เต็มประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างให้มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
เป็นมหาวิทยาลัย สีเขียว(Green and Clean  University)